เขียนเว็บ เดอะ ซีรีส์ ตอนที่ 29: สร้างฐานข้อมูลและตารางโดยใช้เครื่องมือใน phpMyAdmin
การจัดการฐานข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการสร้าง แก้ไข หรือลบนั้น เราจะใช้คำสั่งต่าง ๆ จากภาษา SQL มาช่วยในการจัดการ แต่ใน phpMyAdmin เองก็สามารถสร้าง แก้ไข หรือลบฐานข้อมูลได้โดยที่ไม่ต้องใช้คำสั่งจากภาษา SQL เช่นกัน
การจัดการฐานข้อมูล
การสร้างฐานข้อมูล
ให้ทำการเปิด XAMPP Control Panel แล้วเปิด phpMyAdmin เพื่อทำการสร้างฐานข้อมูล (ดูวิธีการติดตั้งและการใช้งาน XAMPP บน Windows)
เมื่อเข้า phpMyAdmin แล้วให้ไปที่เมนู “Databases”
ให้ตั้งชื่อฐานข้อมูลชื่อ test_db ในช่อง Database name และเลือกรหัสอักขระเป็น utf8_unicode_ci
เมื่อตั้งชื่อฐานข้อมูลและกำหนดรหัสอักขระแล้วให้คลิกปุ่ม “Create”
หลักจากคลิกปุ่ม “Create” แล้วระบบจะแจ้งเตือนว่าฐานข้อมูล test_db ถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยแล้ว และระบบจะไปยังหน้าภายในของฐานข้อมูล test_db เพื่อให้เราสร้างตารางต่อไป
การแก้ไขโครงสร้างฐานข้อมูล
เราไม่สามารถใช้เครื่องมือของ phpMyAdmin ในการแก้ไขโครงสร้างฐานข้อมูลได้ ต้องใช้คำสั่งจากภาษา SQL ในการแก้ไขเท่านั้น
การลบฐานข้อมูล
ให้ไปที่หน้าแรกของ phpMyAdmin แล้วไปที่เมนู “Databases” จากนั้นให้ทำเครื่องหมายถูกที่หน้าตารางที่ต้องการลบ แล้วคลิก “Drop” (กรอบสีแดงตามภาพ) เพื่อลบฐานข้อมูล
เมื่อคลิก “Drop” แล้วระบบจะถามเพื่อยืนยันว่าต้องการลบฐานข้อมูลหรือไม่ ให้คลิก OK เพื่อลบฐานข้อมูล
เมื่อคลิก OK แล้วระบบจะแจ้งเตือนว่าฐานข้อมูลถูกลบออกจากรายการฐานข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
เราสามารถลบฐานข้อมูลได้มากกว่า 1 ฐานข้อมูลโดยการทำเครื่องหมายถูกที่หน้าฐานข้อมูลที่ต้องการลบตามภาพด้านล่าง
คำเตือน
- ห้ามแก้ไข หรือลบฐานข้อมูล information_schema, mysql, performance_schema และ phpmyadmin ในรายการฐานข้อมูลโดยเด็ดขาด เพราะฐานข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ phpMyAdmin
- ฐานข้อมูล test ใช้สำหรับทดลองการจัดการฐานข้อมูล แต่ควรจะสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการจัดการเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด
การจัดการตาราง
การสร้างตาราง
เมื่อเข้ามาที่หน้าภายในของฐานข้อมูล test_db แล้วให้ตั้งชื่อตารางในช่อง Name และกำหนดจำนวนคอลัมน์ที่ต้องการให้มีในตาราง (สามารถเพิ่มคอลัมน์ในภายหลังได้)
ตารางใหม่ที่จะสร้างนี้ให้ตั้งชื่อว่า fruit_list เพื่อใช้เก็บรายชื่อผลไม้ โดยกำหนดให้มีคอลัมน์จำนวน 3 คอลัมน์ จากนั้นคลิกปุ่ม “Go”
เมื่อคลิกปุ่ม “Go” จะพบว่ามี 3 คอลัมน์ให้ทำการตั้งชื่อ เลือก Data type และ/หรือ กำหนด Length ที่ใช้เก็บข้อมูล
ตั้งชื่อพร้อมกำหนด Data type ให้กับคอลัมน์ต่าง ๆ สำหรับตาราง fruit_list ดังนี้
- fruit_id ใช้เก็บรหัสผลไม้ มี Data type เป็น Int โดยมี Length เท่ากับ 3
- fruit_name ใช้เก็บชื่อผลไม้ มี Data type เป็น Varchar โดยมี Length เท่ากับ 30
- fruit_type ใช้เก็บประเภทของผลไม้ มี Data type เป็น Varchar โดยมี Length เท่ากับ 15
เมื่อตั้งค่าให้กับคอลัมน์ต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วให้คลิกปุ่ม “Save” เพื่อสร้างคอลัมน์ ระบบจะเข้ามาที่หน้าโครงสร้างภายในของตาราง fruit_list และจะพบกับคอลัมน์ทั้ง 3 คอลัมน์ที่ได้มีการตั้งค่าเอาไว้แล้ว
การสร้างตารางด้วยวิธีนี้จะสร้างได้เพียงครั้งละ 1 ตาราง ถ้าต้องการสร้างมากกว่า 1 ตารางต้องใช้คำสั่ง CREATE TABLE ของภาษา SQL
เมื่อไปที่หน้าฐานข้อมูล test_db จะพบกับตาราง fruit_list อยู่ในรายการตาราง
การแก้ไขโครงสร้างตาราง
เราไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างของตาราง เช่น รหัสอักขระ ผ่านทางเครื่องมือของ phpMyAdmin ได้ ต้องแก้ไขโดยใช้คำสั่งของภาษา SQL โดยตรง
การเพิ่มคอลัมน์
ให้ไปที่หน้าตาราง fruit_list จะมีช่องให้เพิ่มคอลัมน์โดยจะอยู่ข้างบน Indexes (กรอบสีแดงตามภาพ)
สามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเพิ่มกี่คอลัมน์โดยการคลิกลูกศรขึ้น-ลง หรือพิมพ์ตัวเลขจำนวนคอลัมน์ที่ต้องการเพิ่ม โดยตัวอย่างนี้จะเพิ่ม 3 คอลัมน์ (กรอบสีแดงตามภาพ)
สามารถเลือกได้ว่าคอลัมน์ที่ต้องการเพิ่มจะให้อยู่ตำแหน่งไหนของตาราง เช่น จุดเริ่มต้นของตาราง หรืออยู่หลังตารางต่าง ๆ เป็นต้น โดยตัวอย่างนี้จะเพิ่มคอลัมน์ต่อท้ายคอลัมน์ fruit_type (กรอบสีแดงตามภาพ)
เมื่อเลือกได้แล้วว่าต้องการเพิ่มกี่คอลัมน์และจะวางไว้ตำแหน่งไหนให้คลิกปุ่ม “Go” เพื่อทำการตั้งค่าก่อนที่จะเพิ่มคอลัมน์
เมื่อตั้งค่าเรียบร้อยแล้วให้คลิก “Save” ระบบจะแจ้งว่าได้ทำการเพิ่มคอลัมน์เรียบร้อยแล้ว
และเมื่อคลิกที่ Structure ในตาราง fruit_list จะพบกับคอลัมน์ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 3 คอลัมน์ต่อท้ายคอลัมน์ fruit_type (กรอบสีแดงตามภาพ)
การแก้ไขโครงสร้างของคอลัมน์
ให้ไปที่หน้าตาราง fruit_list แล้วคลิกที่ “Change” บนคอลัมน์ที่ต้องการแก้ไข (ตัวอย่างคอลัมน์ที่ต้องการแก้ไข คือ fruit_name กรอบสีแดงตามภาพ)
เมื่อคลิก “Change” จะแสดงหน้าตาให้แก้ไขข้อมูลโครงสร้างคอลัมน์ fruit_name ดังภาพด้านล่าง
ข้อมูลที่มักจะมีการแก้ไข เช่น
- Name เป็นการแก้ไขชื่อคอลัมน์
- Type เป็นการแก้ไข Data type
- Length/Values เป็นการแก้ไขความยาวของข้อมูล
- Collation เป็นการแก้ไขประเภทของรหัสอักขระ เช่น utf8_unicode_ci, tis620_thai_ci เป็นต้น
- Null เป็นการระบุว่าในคอลัมน์สามารถมีค่า Null ได้หรือไม่ โดยค่า Null คือ ค่าที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นค่าอะไร ถ้าทำเครื่องหมายถูกจะทำให้คอลัมน์นั้นสามารถมีค่า Null ได้
นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขข้อมูลอื่น ๆ ได้ เช่น Auto Increment, Unsigned Zerofill เป็นต้น
ถ้าต้องการแก้ไขข้อมูลมากกว่า 1 คอลัมน์ ให้ทำเครื่องหมายถูกที่หน้าคอลัมน์เพื่อเลือกคอลัมน์ที่ต้องการแก้ไขแล้วคลิก “Change” ที่ด้านล่าง (กรอบสีแดงตามภาพ)
การลบคอลัมน์
ให้ไปที่หน้าตาราง fruit_list แล้วคลิกที่ “Drop” บนคอลัมน์ที่ต้องการลบ (ตัวอย่างคอลัมน์ที่ต้องการลบ คือ fruit_id กรอบสีแดงตามภาพ)
ระบบจะถามว่าต้องการลบคอลัมน์ fruit_id หรือไม่ ให้คลิก OK เพื่อลบคอลัมน์
เมื่อคลิก OK ระบบจะลบคอลัมน์ fruit_id ออกจากตาราง fruit_list
ถ้าต้องการลบมากกว่า 1 คอลัมน์ ให้ทำเครื่องหมายถูกที่หน้าคอลัมน์เพื่อเลือกคอลัมน์ที่ต้องการลบแล้วคลิก “Drop” ที่ด้านล่าง (กรอบสีแดงตามภาพ)
การลบตาราง
ให้ไปที่หน้าฐานข้อมูล test_db แล้วคลิกที่ “Drop” บนตารางที่ต้องการลบ (ตัวอย่างตารางที่ต้องการลบ คือ fruit_list กรอบสีแดงตามภาพ)
ระบบจะถามว่าต้องการลบตาราง fruit_list หรือไม่ ให้คลิก OK เพื่อลบตาราง
เมื่อคลิก OK ระบบจะแจ้งว่าได้ทำการลบตาราง fruit_list เรียบร้อยแล้ว
ถ้าต้องการลบมากกว่า 1 ตาราง ให้ทำเครื่องหมายถูกที่หน้าคอลัมน์ตามภาพด้านล่าง
จากนั้นนำเมาส์ไปคลิกที่ “With selected:”
เลือก “Drop” เพื่อทำการลบตาราง
ระบบจะถามว่าต้องการลบตารางเหล่านี้หรือไม่ ถ้าคลิก Yes ระบบจะลบทั้ง 2 ตารางออกจากฐานข้อมูล
สรุป
- การจัดการฐานข้อมูล ตาราง และ/หรือคอลัมน์โดยใช้เครื่องมือบน phpMyAdmin ช่วยให้เกิดความสะดวกในการจัดการระบบฐานข้อมูล เพราะ phpMyAdmin มีหน้าตาของระบบที่ใช้งานง่าย สามารถเลือกสร้างฐานข้อมูล หรือจัดการแก้ไขฐานข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว
- สามารถใช้เครื่องมือบน phpMyAdmin ควบคู่ไปกับการเขียนโปรแกรมภาษา SQL เพื่อใช้จัดการฐานข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการจัดการฐานข้อมูลบางอย่างต้องใช้ภาษา SQL ในการจัดการ